คู่มือการปลูกดาวเรืองไม้กระถาง

14536 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คู่มือการปลูกดาวเรืองไม้กระถาง

       วันนี้ เอกะพาปลูกจะนำคู่มือ เทคนิคการปลูกดาวเรือง ✿ไม้กระถางมาฝากนักปลูกดอกไม้ทุกท่านค่ะ ซึ่งเอกะพาปลูกเคยเอาข้อมูลการปลูกดาวเรืองไม้ตัดดอกมาลงให้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็เห็นมีหลายท่านถามมากันเยอะแยะว่าดาวเรืองไม้ตัดดอกกับดาวเรืองไม้กระถางปลูกเหมือนกันหรือเปล่า จริงๆ และก็มีเทคนิคคล้ายๆ กันค่ะแต่การปลูกดาวเรืองทั้งสองแบบก็จะมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเอกะพาปลูกจะมาอธิบายเทคนิคการปลูกดาวเรืองไม้กระถางให้กระจ่างกันให้ในบล็อกนี้เลยค่ะ

 ตอนที่ 1 การเพาะเมล็ด

วัสดุอุปกรณ์

(1.) ถาดเพาะ 200 หรือ 288 หลุม

(2.) พีทมอส (วัสดุเพาะ)

(3.) คีมคีบ หรือ Forcep 

(4.) ตะกร้าสำหรับกลบเมล็ด

(5.) ถังพ่นสารเคมี

(6.) สารป้องกันและกำจัดเชื้อรา โพรพาโมคาร์บ หรือ เมทาแลกซิล

(7.) ถุงมือ ป้องกันสารเคมี

วิธีการเพาะ
1. ใช้โพรพาโมคาร์บฯ อัตรา 0.4 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ป้องกันโรคเน่าคอดิน เพื่อนำไปผสมในวัสดุเพาะ
2. ผสมน้ำที่เตรียมไว้กับพีทมอส โดยค่อยๆ เทน้ำสำหรับผสมวัสดุเพาะ เติมน้ำทีละนิดคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้น ลองบีบวัสดุเพาะเพื่อทดสอบปริมาณน้ำที่เหมะสม เมื่อบีบแล้วมีน้ำออกมาเล็กน้อยตามร่องมือ และวัสดุเพาะเกาะกันเป็นก้อนดีถือว่าใช้ได้
3. นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้ใส่ถาดเพาะ 200 หรือ 288 หลุม โดยใส่ให้เต็มหลุม และกระแทกถาดเพาะ 1 ครั้ง เพื่อให้ วัสดุเพาะลงถึงก้นหลุม ทำการเติมวัสดุเพาะให้เต็ม และปาดให้เรียบพอดีกับหลุม
4. นำถาดเพาะเปล่ามาวางบนถาดเพาะที่ใส่วัสดุเพาะแล้ว จากนั้นกดถาดเปล่าเพื่อทำหลุม โดยหลุมที่กดควรมีขนาด ลึกพอดีกับเมล็ด ประมาณ 0.5 ซม.
5. ทำการหยอดเมล็ดดาวเรือง 1 เมล็ดต่อ 1 หลุม
6. นำวัสดุเพาะ ที่ยังไม่ได้ผสมน้ำมาใส่ตระกร้าเพื่อร่อน กลบเมล็ด โดยกลบให้มิดเมล็ดแต่ไม่หนาจนเกินไป เนื่องจากดาวเรืองไม่ต้องการแสงในการงอกและเป็นการรักษาสภาพความชื้น
7. พ่นสารเคมี โพรพาโมคาร์บฯ อัตรา 1 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร พ่นให้ทั่วถาดเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดินอีกครั้ง
8. นำถาดเข้าไปในบริเวณที่พรางแสง ตามระยะต้นกล้า และรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำ อย่าให้ถาดเพาะแห้ง หรือแฉะจนเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดไม่งอก หรือแฉะเกินไป  อาจทำให้เป็นโรครากเน่าคอดินได้


 ตอนที่ 2 การดูแลต้นกล้า

ระยะที่ 1 : เป็นระยะที่ต้นกล้าดาวเรืองเริ่มงอก หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว 3-5 วัน  ในระยะนี้ควรรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำและนำไปในที่พรางแสง 50%

ระยะที่ 2 : เป็นระยะใบเลี้ยงเริ่มแผ่โดยใช้เวลาจากระยะแรก 1-2 วัน ควรนำออกแดดจัดเพื่อป้องกันต้นกล้ายืดเข้าหาแสง ควรรักษาความชื้นเนื่องจากต้นกล้ายังเล็กอยู่ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงควรปล่อย ให้ผิววัสดุเพาะแห้งบ้างเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน และจะทำให้ ต้นกล้าแข็งแรงกว่าให้น้ำตลอดเวลา ในระยะนี้ยังไม่ควรให้ปุ๋ย เนื่องจากต้นกล้ายังมีอาหารสะสมอยู่ และที่วัสดุเพาะมีการใส่ธาตุอาหารเพิ่มเข้าไปอยู่แล้ว

ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่เริ่มมีใบจริง 1 คู่
• เริ่มให้ปุ๋ยทางน้ำโดยผสมปุ๋ยสูตร 15-0-0 หรือแคลเซียมไนเตรท หรือปุ๋ยสูตร 20-20-20 อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร โดยใน 1 สัปดาห์ให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วัน เป็นน้ำเปล่า เพื่อไม่ให้วัสดุเพาะเค็มเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ย 46-0-0 หรือยูเรีย เพราะจะทำให้ต้นกล้าอ่อนแอ
• ความชื้นควรปล่อยให้ผิวหน้าวัสดุเพาะแห้ง แต่ต้นไม่เหี่ยว จึงจะทำการรดน้ำหรือ ให้ปุ๋ยจนชุ่ม

ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่มีใบจริง 2 คู่
• เพิ่มการให้ปุ๋ย โดยให้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 หรือ 20-20-20 อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร
• ความชื้นเหมือนกันกับระยะที่ 3
• ระยะนี้ใช้เวลา 15-20 วันนับจากวันเพาะ และสังเกตุ ใบจริง 2 คู่ขึ้นไปถือว่าต้นกล้าพร้อมย้ายปลูกลงกระถาง


 ตอนที่ 3 การเตรียมวัสดุปลูก

อัตราส่วน ในการผสมวัสดุปลูก สูตร 1 ไม่มีดินเป็นส่วนผสม
**ข้อดีคือน้ำหนักเบา ไม่มีดินที่อาจนำพาเชื้อโรคทางดิน
          • ขุยมะพร้าว 180 ลิตร
          • ทรายหยาบ 60 ลิตร
          • โดโลไมท์ 0.5 กิโลกรัม
          • ปุ๋ยละลายช้า 250 กรัม

อัตราส่วน ในการผสมวัสดุปลูก สูตร 2 มีดินเป็นส่วนผสม 
         • ขุยมะพร้าว 1 ส่วน
         • ทรายหยาบ 1 ส่วน
         • ถ่านแกลบ 1 ส่วน ดิน 1/2 ส่วน
         • ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก'า ½ ส่วน แกลบดิบ ½ ส่วน
 

นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปบรรจุถุงดำ หรือกระถาง

 ตอนที่ 4 การย้ายปลูก และวิธีการดูแลรักษา

วิธีการย้ายปลูก
          ควรย้ายต้นกล้าดาวเรืองที่มีอายุไม่เกิน 20 วัน หรือมีจำนวนใบจริง 2-3 คู่ ไม่ควรย้ายต้นกล้าที่มีอายุมาก เกินไปเพราะระบบรากจะแผ่กระจายได้ช้า เนื่องจากระบบรากนั้นแก่เกินไป ดังนั้นควรย้ายกล้า ในขณะที่รากยังไม่แก่เกินไปจะทำให้รากของต้นกล้ามีการพัฒนาได้ดีกว่า การหาอาหารของราก ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          เจาะหลุมในวัสดุปลูก ให้ลึกพอสมควร แล้ววางต้นกล้าลงไปให้ลึกจนชิดใบเลี้ยง แล้วกลบหลุมเพื่อป้องกันต้นกล้าหักล้ม และเพื่อพัฒนาระบบรากให้มีมากยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่การย้ายปลูกคือช่วง เย็น (แดดไม่แรง) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้า ส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดี หลังการย้ายปลูก

การให้น้ำ
          ช่วงหลังการย้ายปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอจนต้นฟื้นตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นควรรักษาความชื้นในวัสดุปลูกให้เหมาะสม ไม่แห้งจนต้นเหี่ยว และไม่แฉะหรือน้ำขังเป็นเวลานานเกินไป หากดินขาดความชื้น จะทำให้แมลงพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง ระบาดได้ง่ายและหากดินมีน้ำขังหรือแฉะจนเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายเช่นกัน


 ตอนที่ 5 การให้ปุ๋ย

วิธีการให้ปุ๋ยแบบเม็ด
          เป็นวิธีที่นิยมส่วนใหญ่ใช้กับปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ไม่ดี การให้ปุ๋ยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะให้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เนื่องจากปุ๋ยจะค่อยๆ ละลายให้กับต้นพืช และต้องระวังอย่าให้ชิดโคนหรือให้ในปริมาณที่มากเกินไปเพราะจะทำให้ต้นหรือใบไหม้ได้

เทคนิคแนะนำ : การให้ปุ๋ยแบบเม็ดหลังย้ายปลูก 1 สัปดาห์ ควรทำหลุมแล้วหยอดปุ๋ย เมื่อหยอดเสร็จควรกลบหลุมเพื่อป้องกันการระเหิดของปุ๋ย อาจทำให้พืชไม่ได้รับธาตุอาหารได้

สูตรปุ๋ย (N:P:K)
ช่วงระยะเวลา 
ปริมาณการให้
15-15-15
ช่วงหลังย้ายปลูก 1 สัปดาห์
ครึ่งช้อนชาสัปดาห์ละ 2 ครั้งจนต้นโต
ชนขอบกระถางค่อยเพิ่มเป็น 1  ช้อนชา
13-13-21
ควรให้ในระยะตุ่มดอก
1 ช้อนชา สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
 

วิธีการให้ปุ๋ยแบบน้ำ – การผสมปุ๋ยเม็ดกับน้ำในอัตราที่กำหนด

ช่วงระยะเวลา
สูตร
อัตราส่วนผสม
ความถี่
การเจริญเติบโต ทางลำต้นและใบ
15-0-0
25-7-7
หรือ 15-15-15
1 กิโลกรัม
ต่อน้ำ 200 ลิตร
สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
อีก 6 วันให้น้ำเปล่า
ตุ่มดอก
15-15-15
+ 8-24-24
8-24-24 = 1 กก.
ผสมกับน้ำ 200 ลิตร
15-15-15 = 0.5 กก.
สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
อีก 6 วันให้น้ำเปล่า
ออกดอก
14-14-21
1.5 – 2.0 กิโลกรัม
ต่อน้ำ 200 ลิตร
สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
อีก 6 วันให้น้ำเปล่า
ข้อควรระวัง : การให้ปุ๋ยละลายน้ำควรรดบริเวณโคนต้นโดยการหยอด ไม่ควรรดโดนใบ แต่หากโดนใบควรรดน้ำ ตามเพื่อล้างปุ๋ยที่ตกค้าง


 ตอนที่ 6 การเด็ดยอด
ควรทำการเด็ดยอดต้นดาวเรืองหลังจากย้ายปลูกประมาณ 10-15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่งด้านบนลงจนหักชิดข้อที่จับเพื่อช่วยในการแตกทรงพุ่มของลำต้น  แต่การเด็ดยอดจะทำให้การออกดอกชำาลงประมาณ 1 สัปดาห์

 ตอนที่ 7 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และโรคพืช


 ตอนที่ 8 การดูแลเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น

1.ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ
2.ต้องให้ปุ๋ยต่อเนื่องและต่อไป
3.ไม่ควรรดน้ำถูกดอก
4.ตัดแต่งต้น
5.พ่นสารกำจัดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ

ดาวเรืองไม้กระถาง/ประดับแปลง เอกะ อะโกร

✿ ดาวเรือง เชียงใหม่

✿ ดาวเรือง เหลืองเจ้าพระยา

✿ ดาวเรือง ดิสคัฟเวอรี่

✿ ดาวเรือง ปริ้นซ์

✿ ดาวเรือง ไท่ชาน

ทั้งหมดนี้คือวิธีและขั้นตอนการปลูกดาวเรืองไม้กระถาง/ประดับแปลงนะค้าา หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักปลูกไม้ดอกทุกท่านค่ะ ไว้โอกาศหน้าเอกะ พาปลูกจะเอาเทคนิคและเคล็ดลับดีดีในการปลูกดอกไม้มาฝากอีกค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้