วิธีการปลูกดอกไม้ จากเมล็ดพันธุ์ดอกไม้

50772 Views  | 

วิธีการปลูกดอกไม้ จากเมล็ดพันธุ์ดอกไม้

 

   อุปกรณ์ในการเพาะเมล็ดดอกไม้

                  ถาดเพาะ  หรือ ตะกร้าเพาะ

                  วัสดุเพาะ

                  เมล็ดพันธุ์ดอกไม้

                  ป้ายชื่อพันธุ์ดอกไม้

                  บัวรดน้ำแบบฝอยละเอียด

 

   การเตรียมวัสดุเพาะ

                        เทวัสดุเพาะลงในกระบะแล้วผสมน้ำลงไปในวัสดุเพาะ โดยการขุดหลุมบริเวณตรงกลาง และเติมน้ำลงไปทีละน้อย ระวังอย่าให้มากจนเกินไป

                        คลุกเคล้าให้เคล้ากันเพื่อให้ได้ความชื้นพอเหมาะ

                        ทดสอบด้วยการบีบวัสดุเพาะด้วยมือ สังเกตน้ำที่ไหลออกตามอุ้งมือเล็กน้อย หากมากหรือน้อยเกินไปสามารถผสมน้ำหรือวัสดุเพาะเพิ่ม เพื่อให้ความชื้นพอเหมาะ

 

  การเพาะเมล็ดในถาดเพาะ

                        นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้ บรรจุลงในถาดเพาะให้เต็มทั่วทุกหลุม

                        หลังจากนั้นกระแทกถาดเพาะเบาๆพอประมาณ 1 ครั้งเพื่อให้ดินแน่นขึ้น ไม่แนะนำให้ใช้มือกดเพราะดินจะแน่นจนเกินไป จะสังเกตเห็นว่าบางหลุมดินยุบลงไป สามารถเติมวัสดุเพาะได้ในหลุมที่ยังไม่เต็ม

                        ใช้มือหรือไม้เกลี่ยหน้าวัสดุเพาะให้เสมอกัน หลังจากนั้นให้หยอดเมล็ดลงถาดเพาะ 1 เมล็ด ต่อ 1 หลุม

 

   การกลบเมล็ด

                         หลังจากหยอดหรือหว่านเมล็ดแล้ว  สําหรับเมล็ดทีมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่จะเพาะในตะกร้า ไม่ควรกลบเมล็ด หรือกลบบางๆ การกลบเมล็ดหนาสําหรับเมล็ดเล็กนัน จะส่งผลต่ออัตราการงอกทีลดลง สำหรับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่สามารถกลบเมล็ดได้หนาขึ้น
                         วัสดุที่ใช้กลบเมล็ดแนะนำให้ใช้วัสดุเพาะ หรือขุยมะพร้าวละเอียด ร่อนผ่านตระแกรงลงบนถาดเพาะได้โดยตรง สังเกตว่าบริเวณใดบางให้ร่อนเพื่อกลบซ้ำบริเวณนั้น


    ระยะต้นกล้า และการพรางแสง
  • ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ด – ต้นกล้าเริ่มทยอยงอก และใบเลี้ยงเริ่มแผ่ พรางแสง  80 – 90 % (ความชื้นของวัสดุเพาะควรอยุ่ในระดับสูง)
  • ระยะที่ 2 เริ่มแผ่ใบเลี้ยง – ใบเลี้ยงแผ่เต็ม พรางแสง  50 % 
  • ระยะที่ 3 ใบเลี้ยงแผ่เต็ม – ใบจริงคู่แรกเริ่มแทง พรางแสง 20 –  25 % 
  • ระยะที่ 4 ใบจริงคู่แรกเริ่มแทง – มีใบจริง 2 คู่ขึ้นไป พร้อมย้ายปลูก ไม่พรางแสง

 

   การย้ายปลูกต้นกล้าลงกระถาง
                        หลังจาก การเพาะเมล็ดไปแล้วประมาณ 40-45 วัน ควรรีบย้ายปลูกทันทีเมื่อรากเจริญเติบโตเต็มถาดหลุม เพื่อให้ได้คุณภาพต้นกล้าที่สมบูรณ์ สังเกตได้จากเมื่อดึงต้นรากจะไม่ขาด

                        หลักการปฏิบัติในการย้ายปลูก

                                     1. ย้ายต้นกล้าในตอนที่แดดอ่อน หรือในร่ม

                                    2. เตรียมแปลงปลูกอย่างดี รดน้ำแปลงให้ดินชื้นก่อนการย้ายปลูก ก่อนย้ายต้นกล้าให้รดน้ำต้นกล้าให้ชุ่มก่อนทำการย้ายปลูก ดึงต้นกล้าเบาๆหรือใช้ใช้แหนบคีบพร้อมดินหุ้มรากไปให้มากๆ เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

                                    3. ปลูกในหลุมที่กว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา และควรปลูกให้ใบจริงอยู่ใกล้กับระดับดินมากที่สุด เพื่อที่เวลารดน้ำต้นกล้าจะไม่หักล้มง่าย และแก้ปัญหาต้นกล้ายืด

                                    4. รดน้ำให้ชุ่มโดยใช้บัวรดแบบฝอยละเอียด เพราะระยะนี้ต้นกล้าจะยังไม่แข็งแรง ไม่ควรใช้สายยาง หรือบัวรดน้ำรูใหญ่ เพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำเสียหายได้

 

   การเตรียมดินปลูกสำหรับบรรจุลงกระถาง
                      การเตรียมดินปลูกต้องพิถีพิถันพอสมควร เพราะไม้ดอกส่วนใหญ่มีอายุการออกดอกสั้น โดยเฉพาะไม้ดอกที่ไวต่อแสงจะออกดอกทันทีเมื่อครบอายุ และต้นสมบูรณ์  ดินปลูกต้องเป็นดินโปร่ง ร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี ในขณะเดียวกันอุ้มความชื้นได้ดีพอสมควร มีความเป็นกรดเล็กน้อย มี pH ประมาณ 6.5 – 7 ส่วนผสมของดินปลูกควรหาง่ายในท้องถิ่น สำหรับดินผสม 1 ลูกบาศก์เมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร  15 – 15 – 15  จำนวน 0.5 กิโลกรัม และสูตร 0 – 46 – 0 จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกันตามสัดส่วน  

สูตรที่ 1 ส่วนประกอบดินผสมโดยทั่วไป ได้แก่ ดินร่วน ปุ๋ยหมัก แกลบดิบ แกลบเผา ขุยมะพร้าว อัตราส่วน  1 : 1 : 2 : 2 : 2

สูตรที่ 2 ส่วนประกอบดินผสมโดยทั่วไป ได้แก่ แกลบดิบ ขุยมะพร้าว ดิน อัตราส่วน 3 : 5 : 2

สูตรที่ 3 ขุยมะพร้าว ทรายหยาบ + โดโลไมท์  อัตราส่วน 3 : 1 +โดโลไมท์ อัตราส่วนผสมรวมกัน 240 ลิตร (ขุยมะพร้าว 180 ลิตร + ทรายหยาบ 60 ลิตร ใช้โดโลไมท์ 0.5 กก.)

** ทั้งนี้สามารถดัดแปลงสูตรได้ตามความเหมาะสม ตามประสบการณ์ หรือคู่มืออื่นๆ

   ดินปลูกสำหรับปลูกลงแปลง
                   ไถพรวน และพลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นให้ทำการไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมด และทำให้ดินร่วนซุย ให้รากพืชเดินได้สะดวกเหมาะสำหรับการปลูก ถ้าดินมีปัญหาโดยมีค่าความเป็น กรด-ด่าง น้อยกว่า 6. 5 ควรเติมปูนขาวเพื่อปรับสภาพ pH ของดิน อัตรา 100 – 300 กก./ไร่ ในขณะใส่ปูนขาวดินควรมีความชื้นเพื่อให้ปูนทำปฏิกิริยากับดินได้ดียิ่งขึ้น และปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ผสมปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 รองพื้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และเพิ่มแร่ธาตุในดิน

    การให้น้ำ หรือรดน้ำ
                    การให้น้ำ ควรรดน้ำทุกวันในตอนเช้าหรือเย็น หากรดน้ำในเวลาเย็นควรให้น้ำที่ค้างอยู่บนใบแห้งก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และเมื่อมีดอกบาน อย่ารดน้ำให้ถูกดอกเพราะอาจทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้ การให้น้ำควรให้สภาพดินชุ่มสลับแห้ง ไม่ควรให้ชุ่มตลอดเวลา เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า และทำให้ระบบรากไม่พัฒนา ส่งผลให้ต้นแคระแกร็น ไม่สมบูรณ์  สามารถสังเกตสีของดินหรือวัสดุเพาะ หากมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม แสดงว่าดินยังชุ่มหรือมีน้ำอยู่ เมื่อดินเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลอ่อน แห้งแข็ง แสดงว่าดินขาดน้ำ

   การให้ปุ๋ย
                  ปุ๋ยสูตรน้ำ ระยะที่ 1 เสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก ลำต้นและใบ หลังจากย้ายกล้าแล้วประมาณ 7 วัน  ให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง เช่น สูตร  15 – 0 – 0 หรือ 25 – 7 – 7 ในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 5 – 7 วัน ประมาณ 2 – 3 ครั้ง

                 ปุ๋ยสูตรน้ำ ระยะที่ 2 ช่วงการเจริญเติบโตถึงระยะสังเกตเห็นตุ่มดอก ให้ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15  อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน จนกระทั่งดอกเริ่มบาน

                 ปุ๋ยสูตรน้ำ ระยะที่ 3 เมื่อดอกเริ่มบาน ให้ปุ๋ยสูตร ให้ปุ๋ยสูตร 8 – 24 – 24 หรือ 13 – 13 – 21 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก

                 ปุ๋ยเม็ด สามารถให้เหมือนสูตรน้ำ ระยะที่ 1 – 3  อัตรา 10 กรัม/ต้น ทุกๆ 7 วัน โดยฝังลงในดินหรือใช้ดินกลบ
                ข้อควรระวัง  การให้ปุ๋ยเม็ดระวังอย่าให้โดนโคนต้นเพราะอาจทำให้เน่าและไหม้ได้ ควรฝังลงดินหรือใช้ดินกลบ การให้ปุ๋ยน้ำ อาจสัมผัสโดนใบและทำให้ใบไหม้ได้ ดังนั้นเมื่อรดปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเพื่อล้างใบตาม

                                      หากไม่สามารถหาปุ๋ยได้ตามสูตร สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 หรือสูตรเสมอทดแทนได้ทุกระยะ  แต่การเจริญเติมโตอาจไม่ดีเท่าสูตรที่แนะนำ หรือสำหรับบางท่านที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อยครั้ง สามารถใช้ปุ๋ยละลายช้า สูตร 14 – 14 – 14 แนะนำเป็นตัว เนเจอร์ โค้ท สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นานถึง 3 เดือน แต่จะไม่ดีเท่าการให้ปุ๋ยตามระยะ

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy